บริษัท กรุงเทพเคมีพูล 1996 จำกัด.
categories
brand logo
News & Update อันตรายจากการ ว่ายน้ำ

ความเสี่ยงจากการ ว่ายน้ำ

  • อุบัติเหตุจากการลื่นล้มต่างๆ ป้องกันได้โดยเลือกสระว่ายน้ำที่ได้มาตรฐาน คือใช้วัสดุปูพื้นที่เหมาะสม และมีระบบรักษาความสะอาดที่ดี
  • อาการปวดเมื่อยหลังว่ายน้ำ ป้องกันได้โดยยืดเหยียดกล้ามเนื้อให้เพียงพอทั้งก่อนและหลังว่ายทุกครั้ง ซึ่งยืดเหยียดในสระน้ำได้เลย โดยเน้นที่กล้ามเนื้อไหล่และกล้ามเนื้อที่เกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหวแขนทั้งหมด, กล้ามเนื้อต้นขา, กล้ามเนื้อน่อง, ข้อมือและข้อเท้า ต่อด้วยการว่ายแบบเบาๆเพื่อกระตุ้นระบบไหลเวียนเลือดให้ทั่วร่างกายก่อนจะออกแรงว่ายอย่างจริงจัง
  • อาการแพ้ต่างๆ ถ้าคุณแพ้คลอรีนควรปรึกษาแพทย์โดยตรง เพราะปัจจุบันมีครีมลดอาการแพ้หลังว่ายน้ำได้ แต่ขึ้นอยู่กับการวินิจฉัยของแพทย์ด้วยว่าจะอนุญาตให้คุณว่ายน้ำได้หรือไม่
  • การติดเชื้อในรูหู ทำให้หูอักเสบและปวดหู เกิดจากแบคทีเรียสะสมในช่องรูหู หรือผิวหนังระคายเคืองจากการแคะหู เมื่อว่ายน้ำบ่อยๆ จึงทำให้แบคทีเรียที่ชอบความชื้นแฉะเจริญเติบโตได้ง่ายขึ้น อาการเริ่มแรกคือระคายเคืองในช่องรูหู หากปล่อยทิ้งไว้ อาการอาจรุนแรงขึ้นจนเริ่มบวม แดง และปวดในหู ถึงขั้นมีหนองออก หรือที่เรียกกันว่า “หูน้ำหนวก”
    การดูแลขั้นต้นควรทำตั้งแต่มีอาการเริ่มแรก โดยใช้ยาปฏิชีวนะหยอดที่ช่องรูหู  และงดว่ายน้ำเด็ดขาด เพราะนอกจากจะชำระล้างยาออกไปแล้ว ยังอาจทำให้แบคทีเรียเจริญเติบโตมากขึ้นอีกด้วย ซึ่งระยะเวลาที่หยอดยาและงดลงสระนี้อยู่ในระหว่าง 3-4 วัน เท่านั้น เมื่ออาการดีขึ้นแล้ว ควรหาซื้ออุปกรณ์อุดหูเพื่อกันน้ำเข้าหูมาใช้ เพื่อป้องกันไม่ให้ติดเชื้ออีก
  • อาการบาดเจ็บอื่นๆ มาจากการใช้งานกล้ามเนื้อและข้อต่อที่หนักเกินไป (Overuse) ร่วมกับการว่ายน้ำด้วยท่าทางที่ไม่ถูกต้อง จนบาดเจ็บแบบฉับพลัน แต่อาการนี้พบได้น้อยมาก ส่วนใหญ่จะเกิดขณะเล่นกีฬาทางน้ำอื่นๆ เช่น ดำน้ำ, โปโลน้ำ, สกีน้ำ เป็นต้น
  • อาการบาดเจ็บจากการใช้กล้ามเนื้อหนักเกินไป มักเกิดกับนักกีฬาว่ายน้ำอาชีพ แต่ก็อาจเกิดกับนักว่ายน้ำทั่วไปได้หากว่ายน้ำติดต่อกันเป็นเวลานาน โดยไม่ยืดเหยียดกล้ามเนื้อทั้งก่อนและหลังว่ายน้ำ อาการส่วนใหญ่มักเกิดที่ไหล่เพราะเคลื่อนไหวในมุมกว้าง แต่ก็อาจเกิดที่อวัยวะส่วนอื่นได้ เช่น ข้อเข่า, ข้อศอก, ข้อเท้า, เท้า และหลัง เป็นต้น

ท่า ว่ายน้ำ กับการบาดเจ็บ

ท่าทางมาตรฐานในการว่ายน้ำ ถูกแบ่งเป็น 4 ประเภท ได้แก่ ฟรีสไตล์, กบ, กรรเชียง, ผีเสื้อ ซึ่งทุกท่าล้วนทำให้เกิดการบาดเจ็บที่เอ็นยึดหัวไหล่มากที่สุด จึงมีชื่อเรียกอาการบาดเจ็บนี้ว่า Swimmer’s shoulder หรือ หัวไหล่นักว่ายน้ำ เกิดจากการเสียดสีที่เอ็นรอบข้อของหัวไหล่ เพราะต้องยกแขนเหนือศีรษะ  ใช้งานเส้นเอ็นซ้ำๆ อย่างหนักติดต่อกันเป็นเวลานาน รวมถึงการสะดุดหรือหยุดชะงักท่าทางกะทันหัน ขณะที่กำลังวาดมือขึ้นเหนือศีรษะ ทำให้เส้นเอ็นได้รับบาดเจ็บจากแรงสะท้อนกลับ จึงเกิดการอักเสบขึ้น

วิธีดูแลเบื้องต้น ที่ดีที่สุดคือพักผ่อนและจำกัดมุมการเคลื่อนไหวของหัวไหล่ โดยเลี่ยงการชูแขนขึ้นเหนือศีรษะหรือการยกของหนัก เป็นต้น แต่หากพักแล้วอาการยังไม่ดีขึ้น อาจต้องกินยาต้านการอักเสบ(non-steroidal anti-inflammatory drugs)ร่วมกับการประคบน้ำแข็งสลับกับน้ำอุ่น หรือปรึกษาแพทย์เพื่อฉีดยาเข้าข้อโดยตรง

แม้ว่าอาการบาดเจ็บส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นที่ไหล่ แต่นักว่ายน้ำที่ว่ายท่ากบเป็นประจำก็อาจบาดเจ็บที่หัวเข่าได้คือเอ็นยึดหัวเข่าอักเสบ หากเกิดขึ้นกับนักว่ายน้ำที่อายุน้อย จะมีผลต่อปลายกระดูกหน้าแข้งและปลายกระดูกต้นขาได้ จึงควรระมัดระวังเป็นพิเศษหากจะฝึกท่ากบอย่างจริงจังให้กับเด็กๆ

สำหรับท่าผีเสื้อ อาการบาดเจ็บที่พบบ่อยก็คือ ปวดหลัง เกิดจากการว่ายด้วยท่าทางไม่ถูกต้อง, การกระชากสโตรก หรือว่ายอย่างไม่ราบรื่น จึงการบาดเจ็บที่หลัง ดังนั้นการเรียนรู้ท่าทางการว่ายที่ถูกต้องและฝึกจนชำนาญจึงมีความสำคัญที่ช่วยป้องกันและลดการบาดเจ็บได้

ฝึกกล้ามเนื้อป้องกันบาดเจ็บ

  • ฝึกความแข็งแรงให้กล้ามเนื้อโดยยกดัมเบล หรือ weight training เน้นไปที่กล้ามเนื้อเพื่อใช้ในการหมุนหัวไหล่ทั้งหมด ทำอย่างน้อย3ครั้งต่อสัปดาห์
  • ป้องกันการบาดเจ็บที่ข้อเข่าจากท่ากบ ด้วย weight training โดยใส่น้ำหนักถ่วงที่ข้อเท้าข้างหนึ่ง นั่งบนเก้าที่สูงพอให้ปลายเท้าแตะถึงพื้น ออกแรงยกขาข้างที่ถ่วงน้ำหนักขึ้น ทำ 5 ครั้งแล้วพัก แล้วทำซ้ำ 3-5 เซต ให้ครบทั้งสองข้างในหนึ่งวัน อย่างน้อย3วันต่อสัปดาห์
  • หากคุณเป็นนักว่ายน้ำระยะไกล หรือนิยมท่าผีเสื้อ ควรฝึกความแข็งแรงของกล้ามเนื้อหน้าท้องและกล้ามเนื้อรอบลำตัว (core muscle)ด้วย

การบาดเจ็บจากการใช้กล้ามเนื้อหนักเกินไปเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้เสมอ การพักจึงต้องมีควบคู่ไปกับการฝึกสำหรับผู้ที่ว่ายน้ำทุกวัน คุณควรงดว่ายน้ำ 1 วันต่อสัปดาห์ เพื่อพักกล้ามเนื้อ  หรือให้ร่างกายได้รักษาตัวเองหากมีการบาดเจ็บเล็กน้อยๆ

สำหรับผู้สูงอายุที่นิยมออกกำลังกายด้วยการว่ายน้ำ ควรแบ่งเวลามาออกกำลังกายด้วยวิธีอื่นบ้าง เพื่อป้องกันภาวะกระดูกพรุน เพราะการออกกำลังบนพื้นดินภายใต้สภาวะแรงโน้มถ่วงของโลกจะช่วยเสริมให้กระดูกแข็งแรงได้มากกว่าในน้ำค่ะ

 

ขอบคุณที่มาจาก : นิตยสาร Health&Cuisine สิงหาคม, Issue 67